นกใช้เสียงร้องเป็นเครื่องมือสื่อสาร เสียงร้องของนก เกิดจากกล่องเสียงที่อยู่ปลายหลอดลม ซึ่งลักษณะของกล่องเสียงที่แตกต่างกัน ทำให้นกแต่ละชนิดมีเสียงร้องต่างกัน และนกสามารถเข้าใจเสียงร้องของนกชนิดเดียวกันได้ดี แต่ไม่เข้าใจเสียงของนกชนิดอื่น ทั้งนี้นกที่เปล่งเสียงร้องมักเป็นตัวผู้ แต่บางชนิดตัวผู้กับตัวเมียก็ร้องเสียงแตกต่างกัน เสียงของนกที่เราได้ยิน
แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. เสียงร้องเพลง (Song)
คือ เสียงที่นกเปล่งออกมามีท่วงทำนองมีระดับเสียงสูงเสียงต่ำ ส่วนมากเป็นเสียงที่เราฟังแล้วรู้สึกไพเราะน่าฟัง มักร้องติดต่อกันไปเป็นทำนองสั้นบ้าง ยาวบ้าง ส่วนใหญ่มักร้องในฤดูผสมพันธุ์นกโตเต็มวัย ( ส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ ) ใช้เสียงร้องเรียกร้องความสนใจจากนกเพศตรงข้าม นกหลายชนิดร้องเป็นเพลงคู่ โดยทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะช่วยกันร้อง ยิ่งไปกว่านั้น เสียงร้องยังใช้เพื่อประกาศอาณาเขตที่นกคู่นั้นครอบครองด้วย โดยปกตินกที่จัดไว้ในพวกนกเกาะคอน ( นกพญาปากกว้าง นกจาบปีกอ่อนเล็ก ) มักมีกล่องเสียงที่ซับซ้อน จึงสามารถส่งเสียงร้องเป็นเพลงได้ดี นกที่อยู่ในกลุ่มต้นๆ ของพวกนกเกาะคอนมีกล่องเสียงไม่ซับซ้อนนัก เช่น นกแต้วแล้ว และนกพญาปากกว้าง จึงร้องไพเราะเหมือนพวกนกเขน หรือนกจับแมลง ส่วนพวกนกอันดับอื่นๆ ( นกกระจอกเทศ นกหัวขวาน ) มักส่งเสียงร้องไม่ไพเราะ ส่วนมากเป็นเสียงร้องเรียก
2. เสียงเรียก (Call)
คือเสียงที่นกเปล่งออกมาเพื่อใช้ในกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากการร้องเรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม และการประกาศอาณาเขต ส่วนมากเป็นเสียงที่ไม่มีท่วงทำนอง และร้องซ้ำๆ กันไม่ไพเราะ ส่วนมากจะร้อง 1-3 พยางค์ นกทั้งตัวผู้ และตัวเมียมักส่งเสียงเรียกเหมือนๆ กัน เสียงเรียกแบ่งย่อยได้ดังนี้
2.1 เสียงที่ใช้ติดต่อกัน (Contact Call) คือ เสียงร้องเรียกที่นกใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างนกตัวหนึ่งกับนกอีกตัวหนึ่ง หรือติดต่อกับฝูง นกชนิดเดียวกัน เพื่อทราบตำแหน่งของกัน และกันเป็นเสียงที่นกใช้ทั้งใน และนอกฤดูผสมพันธุ์ มักได้ยินเวลาเช้า - เย็น ขณะกินอาหาร หรือนกกำลังบิน
2.2 เสียงตกใจ (Alarm Call) เป็นเสียงที่นกเปล่งออกมาเมื่อตกใจกลัว สงสัยหรือแปลกใจ มักเป็นเสียงร้องสั้นๆ อาจจะร้อง 1-10 พยางค์ เป็นเสียงร้องที่ดังมาก พอที่จะเตือนภัยให้กับนก หรือสัตว์ในละแวกใกล้เคียงให้ระวังตัว หรือรีบหนีไปได้
2.3 เสียงร้องขณะบิน (Flight Call ) เป็นเสียงร้องที่นกเปล่งออกมาเฉพาะขณะที่บินเท่านั้น เช่น นกยางกรอก นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง และนกทะเลขาเขียว เป็นต้น
2.4 เสียงร้องขออาหาร (Begging Call ) เป็นเสียงร้องที่ลูกนกร้องขออาหารจากพ่อแม่ หรือในนกบางชนิด นกตัวเมียก็ร้องขออาหารจากนกตัวผู้ นอกจากนี้ยังมีเสียงที่นกสามารถทำขึ้นได้ตามอารมณ์ และสิ่งแวดล้อมอีกหลายแบบ
ประโยชน์จากเสียงนก
เสียงร้องของนกทำให้เรารู้สึกเบิกบานใจไม่เหงา ทำให้ป่าเป็นป่า ทุ่งหญ้ามีชีวิตชีวา สำหรับนักดูนกเสียงร้องของนกมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้
ทำให้ทราบว่ามีนกอะไร อยู่ที่ไหน ใกล้ - ไกลเพียงใด เสียงร้องของนกจะเป็นตัวบอกได้
ใช้เสียงจำแนกชนิดนกที่เห็นตัวไม่ชัด หรือไม่เห็นตัว แต่ได้ยินเสียงชัดเจ ( ต้องแน่ใจว่า นกตัวที่เห็นกับนกตัวที่ร้องเป็นนกตัวเดียวกัน )
ใช้เสียงจำแนกชนิดของนกที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกัน เช่น นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทองกับนกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกโพระดกคอสีฟ้ากับนกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ นกเฉี่ยวบุ้งกลางกับนกเฉี่ยวบุ้งใหญ่ และพวกนกเล็กๆ เช่น พวกนกกระจิ๊ดใจสกุล Phylloscopus เป็นต้น
ใช้เสียงนกล่อให้นกปรากฎตัวออกมาจากที่รกๆ หรือใช้เพื่อต้องการดูนกที่เปรียวเห็นตัวได้ยาก เช่น นกโกโรโกโส นกแว่น นกกระทาดง พวกนกขุนแผน นกกินแมลง และนกจับแมลงบางชนิด เป็นต้น
ใช้เสียงล่อให้นกออกมาเพื่อดูตัว จำแนกชนิดหรือถ่ายภาพ ข้อควรระวัง อย่าให้เทปเสียงนกกับนกที่มีไข่ มีลูกอ่อน หรือหวงถิ่นมากๆ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ เนื่องจากเป็นการรบกวนนก และนกบางชนิดอาจทิ้งไข่ หรือทิ้งอาณาเขตไปได้ การฝึกหัดเป็นนักฟังเสียงนก
หมั่นเข้าป่าหรือไปในถิ่นที่อยู่ของนก แล้วพยายามจดจำว่า นกชนิดไหนร้องอย่างไร
พยายามหาเทปที่มีผู้บันทึกไว้ ทั้งนกในประเทศ และนกต่างประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ( หาซื้อได้บ้าง ) เอามาฟังเพื่อให้คุ้นเคยกับเสียงนกชนิดนั้นๆ เมื่อได้ยินในธรรมชาติจะทราบได้ทันทีว่าเป็นเสียงร้องของนกชนิดไหน
การบันทึกเสียงนกด้วยตัวของท่านเอง โดยการอัดเสียงนกลงบนเทป เป็นเสมือนการบันทึกเสียง ของนกชนิดนั้นๆ ลงบนสมองของคุณ ช่วยให้จำเสียงนกชนิดนั้นได้ดีเป็นพิเศษ
ถ้าท่านไม่ทราบชนิดของนกที่ท่านบันทึกเสียงมา อย่าปล่อยให้ผ่านไป นำเทปนั้นไปถามผู้ที่มี ประสบการณ์ ท่านอาจได้ความรู้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะรู้จัก และจดจำเสียงนกได้ดีนั้น ต้องทำข้อ 1 ถึงข้อ 3 เป็นประจำ ฟังมากก็รู้ได้มาก และจำได้มากเช่นกัน
|